ในขั้นตอนการซักประวัติ ก่อนที่จะทำการตรวจด้านอื่นๆของดวงตา มักจะได้ยินกับอาการที่ว่า
- เห็นจุดดำลอยไปลอยมาในตา
- บางคนบอกเห็นเหมือนมีหยากไย่ในตา
- บางคนเห็นในตาข้างเดียว บางคนไม่เคยสังเกตว่าอยู่ในตาข้างไหน รู้แต่ว่าตนเองหงุดหงิด และรำคาญมากเพราะเหมือนมียุงบินผ่านตาตลอดเวลา
หลายคนพอมีอาการสักระยะหนึ่ง ก็ไปพบหมอ หรือในบางคนค้นหาคำตอบเองจากทางอินเตอร์เน็ต ได้คำตอบมาว่า
“เป็นอาการของภาวะวุ้นในตาเสื่อม”
สำหรับวันนี้ เราจะมาเรียนรู้กับภาวะดังกล่าวไปพร้อมๆกันค่ะ
เดิมวุ้นในตาของเรา จะมีลักษณะเป็นเจลใสและเหนียว ในนั้น ประกอบไปด้วยน้ำมากถึง 99% ที่เหลือก็จะเป็น ในส่วนของไขมัน โปรตีน ไฮยาลูโนแนน(hyaluronan) และสารอื่นๆอีกเล็กๆน้อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป วุ้นในตาก็จะเริ่มมีความเสื่อมลงเรื่อยๆ ไม่มีความเหนียวเหมือนแต่ก่อน และเกิดการหดตัวขึ้น ตามมาด้วยการดึงรั้งที่ผิวจอประสาทตา ทำให้มีเลือดกระเซ็นออกมาในประมาณน้อยๆ ลอยไปมาอยู่ภายในวุ้นตาของเรา มีผลทำให้เราเห็นเป็นจุดดำๆ หรือหยากไย่ (floater) นั่นเองค่ะ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด “ภาวะวุ้นในตาเสื่อม” อาทิเช่น
- ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นมากๆ ลูกตาจะยืดยาวกว่าคนปกติ ทำให้เกิดการดึงรั้งที่จอประสาทตาได้ง่ายกว่า
- ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุ แล้วเกิดการกระทบกระเทือนบริเวณศรีษะ
- หรือผู้ที่เคยผ่าตัดในลูกตามาก่อน เป็นต้น
ข้อควรระวัง
(1.) ในกรณีที่มีการดึงรั้งของวุ้นในตา
จนมีเลือดออกมาในปริมาณมาก(Vitreous Hemorrhage) จุดดำๆหรือหยากไย่ที่เคยเห็น จะมีการเพิ่มจำนวน หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปอย่างรวดเร็วได้
(2.) ผลแทรกซ้อนจากภาวะวุ้นในตาเสื่อม
ได้แก่ จอประสาทตาฉีกขาด หรือเกิดการหลุดลอกออกไปเลย (retina detachment) กรณีนี้ อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุดค่ะ
การรักษา
- ภาวะวุ้นในตาเสื่อมไม่สามารถรักษาหรือหยุดยั้งได้ จะรักษาก็ต่อเมื่อเกิดรอยฉีกขาดบนจอประสาทตาแล้ว
- เฝ้าระวัง ดูแลรักษาตามอาการ การเลเซอร์อาจเป็นวิธีการหนึ่งที่เข้ามามีส่วนช่วยได้บ้างค่ะ
- ในผู้ที่เห็นจุดดำๆลอยไปมาในตา แรกๆอาจก่อให้เกิดความรำคาญอยู่บ้างค่ะ
แต่พอเห็นไปสักระยะ สมองของคนเราจะเกิดการปรับตัว โดยมีวิธีการเลือกที่จะไม่รับรู้ภาพนั้นๆ ความรู้สึกรำคาญก็จะลดน้อยลงไปเองค่ะ
อย่างไรก็ตาม ผู้มีภาวะวุ้นในตาเสื่อมอยู่แล้ว ควรหมั่นสังเกตตัวเองบ่อยๆ หากจุดดำๆที่เห็น มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือมีอะไรที่ผิดแปลกไปจากเดิม ก็ควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
แต่ทางที่ดีที่สุดคือ การหมั่นมาตรวจสุขภาพตากับแพทย์หรือนักทัศนมาตรเป็นประจำทุกปี เพื่อไม่ให้สายเกินกว่าจะแก้ไขได้นะคะ
Credit บทความโดย : Dr.Mareena(โอดีอุ้ม), Doctor of Optometry
สนใจตรวจวัดสายตา – ตัดแว่น
จองคิวผ่าน inbox เพจ facebook : แว่นโดยหมอสายตา ดู แล ตา by Doctor of Optometry
ทัก inbox เพจ > มีแอดมินคอยดูแล 24 ชม.
หรือ โทร 087 391 2551 : โทรได้ในเวลาทำการ (11.00 – 20.00 น.)