โรคจอประสาทตาเสื่อม สาเหตุของการเกิดโรคนี้ ไม่สามารถทราบข้อมูลอย่างแน่ชัดได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะพบโรคนี้ได้ในคนที่มีอายุตั้งแต่50ปีขึ้นไป เราจะเรียกโรคกลุ่มนี้ว่า AMD ที่ย่อมาจาก Age-Related Macular Degeneration หรือจอประสาทตาเสื่อมตามอายุนั่นเองค่ะ ซึ่งจะเป็นช้าหรือเร็วนั้น กรรมพันธ์ุอาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่ใช่ว่าโรคนี้ จะเกิดแค่ในผู้สูงอายุเท่านั้น ในวัยทำงานหรือวัยหนุ่มสาว ก็สามารถเป็นได้เช่นกันค่ะ อาจมาจากโรคประจำตัวที่เหนี่ยวนำให้เป็น หรือเกิดภายหลังจากการที่เคยประสบอุบัติมาก็ได้สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้ ความสามารถในการมองเห็นของเค้าจะแย่ลงเรื่อยๆ แต่จะแย่ลงมากน้อยขนาดไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคด้วยนะคะ
AMD แบ่งออกเป็น2ชนิด
1.จอประสาทตาเสื่อมจากอายุ ชนิดแบบแห้ง (Dry AMD หรือ Non-Exudative AMD)
- มีความรุนแรงน้อย
- ยังไม่ถึงกับสูญเสียการมองเห็น แค่รู้สึกมองไม่ชัดเหมือนเดิม
- มากกว่า90%ของผู้ที่เป็นAMD จัดอยู่ในกลุ่มนี้
- เครื่องมือในการตรวจ อาทิเช่น fundus camera, Opthalmoscope และ เลนส์ขยาย ซึ่งใช้ควบคู่กับslit-lamp เป็นต้น
ลักษณะรอยโรคบนจอประสาทตา
พบจุดเล็กๆสีเหลือง(Drusen) บริเวณใกล้เคียงกับจุดรับภาพชัด(Macular) ซึ่งเกิดจากการกำจัดของเสียที่ไม่ดีพอของจอประสาทตา หากตรวจพบว่าเป็นจอประสาทตาเสื่อมในชนิดนี้ จักษุแพทย์, นักทัศนมาตรจะทำการนัดติดตามดูอาการเรื่อยๆ และอาจมีการให้อุปกรณ์ตรวจเช็คตัวเองง่ายๆที่บ้านได้ นั่นคือ Amsler grid ลักษณะจะเป็นตาราง มีจุดสีดำตรงกลาง ใช้สำหรับทดสอบความผิดปกติบริเวณจุดรับภาพชัดโดยเฉพาะค่ะ
2.จอประสาทตาเสื่อมจากอายุ ชนิดแบบเปียก
(Wet AMD หรือ Exudative AMD)
- มีความรุนแรงของโรคมากกว่าชนิดแรก
- ทำให้อาจสูญเสียการมองเห็นได้ เนื่องจากAMDชนิดนี้ มีผลทำให้เกิดเลือดออกในจอประสาทตา
- พบประมาณ10% ในผู้ที่เป็นAMD
- กรณี พบว่าคนไข้เป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดนี้ จะต้องรีบส่งต่อให้กับจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วต่อไป
ปัจจัยเสี่ยงของผู้ที่เกิด โรคจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า50ปีขึ้นไป
- จากสถิติที่ผ่านมา มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆด้วย
- กรรมพันธ์ุ: คนครอบครัวมีประวัติเป็นAMDมาก่อน
- ผู้ที่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพตนเอง เช่น สูบบุหรี่ ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือในคนไม่ค่อยชอบสวมแว่นกันแดด
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว เป็นต้น
การรักษา
มีหลากหลายวิธี แต่จะช่วยได้แค่ ไม่ให้การมองเห็นแย่ลงไปกว่าเดิมเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ดังนั้นแล้ว เราจึงต้องควรหันมาดูแลตนเองซะตั้งแต่ตอนนี้ อย่างน้อยๆก็พยายามสวมแว่นกันแดดทุกครั้ง ที่ต้องออกจากบ้าน และหมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปีนะคะ